29.12.53

บทที่ 4 ต้นทุนการผลิตและแนวคิดเกี่ยวกับต้นทุน

บทที่ 4
ต้นทุนการผลิตและแนวคิดเกี่ยวกับต้นทุน

                ผู้บริหารมีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การควบคุม และการตัดสินใจ ดังนั้นผู้บริหารจะทำงานแต่ละหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ การบริหารต้องได้รับข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการวางแผน การควบคุมและการตัดสินใจ อย่างละเอียดจากนักบัญชีบริหาร การบัญชีต้นทุนจะเป็นการจัดทำบัญชีโดยแสดงต้นทุนสินค้าอย่างละเอียด องค์ประกอบของต้นทุนสินค้าจะถูกบันทึกไว้ ต้นทุนมีความสำคัญสำหรับฝ่ายบริหาร ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ทางเลือกปฏิบัติต่างๆ ได้ถูกต้องซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
1.              การวางแผนกำไรโดยการงบประมาณเป็นเครื่องมือ
2.              การควบคุมต้นทุน
3.              การวัดผลกำไรประจำงวดรวมทั้งการคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือ
4.              ช่วยในการกำหนดราคาขายและนโยบายเกี่ยวกับราคา
5.              ช่วยให้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ในการตัดสินใจ
จะเห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนช่วยฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการวางแผน การควบคุม และการตัดสินใจ ดังนั้น ฝ่ายบริหารควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับต้นทุนในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารงานได้ผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
1.              ความหมายของคำว่า ต้นทุน
ตามศัพท์บัญชีที่บัญญัติโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยให้นิยามคำว่า ต้นทุน”(Cost) ไว้ดังนี้
รายจ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการซึ่งอาจจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์อื่น หุ้นทุนหรือการให้บริการหรือการก่อหนี้ ทั้งนี้รวมถึงผลขาดทุนที่วัดค่าเป็นตัวเงินได้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ
นักบัญชีต้นทุนบางท่านได้ให้นิยามคำว่าต้นทุน ไว้ดังนี้ ต้นทุน หมายถึงเงินสดหรือสิ่งที่เทียบเท่าเงินสดซึ่งต้องเสียไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการโดยคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการในปัจจุบันหรืออนาคต นอกจากนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าประโยชน์นั้นยังคงเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดในอนาคตก็จะเรียกต้นทุน แต่เมื่อใดที่ประโยชน์ได้เกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว ต้นทุนนั้นจะถูกจัดประเภทเป็นค่าใช้จ่าย (Expenses) ในงวดบัญชีที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้ขึ้นถ้าหากว่าประโยชน์นั้นสูญสิ้นไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใดเลยทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตแล้วก็จะเรียกว่าขาดทุน (Loss)
หรือต้นทุน หมายถึงข้อมูลทางบัญชี เพื่อใช้ในการวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน ในด้านการวางแผนข้อมูลต้นทุนที่จะช่วยในการทำงบประมาณ และประมาณต้นทุนการผลิต กำหนดราคาขาย ประมาณการกำไรได้ และใช้ในการตัดสินใจการลงทุนและการขยายงาน ในด้านการควบคุมจะใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับงบประมาณต้นทุนที่กำหนดไว้เพื่อช่วยฝ่ายบริหารรับรู้ถึงการปฏิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
หรือต้นทุน หมายถึง มูลค่าของทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต หรือการให้บริการเป็นส่วนที่เรียกว่า มูลค่าของปัจจัยเข้า (Input Value) ของระบบ ต้นทุนจึงเป็นเงินสด หรือค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่นที่จ่ายไปเพื่อจะให้ได้มาซึ่งบริการหรือผลผลิตทางธุรกิจ ต้นทุน คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนที่จ่ายไปเพื่อให้ได้ผลตอบแทนหรือรายได้ ต้นทุนจึงเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจ
กิจการประเภทบริการ ต้นทุนจะหมายถึง จำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการให้บริการแก่ลูกค้า เช่น ต้นทุนบริการซ่อมรถ มีต้นทุนประกอบด้วย ค่าอะไหล่รถยนต์ ค่าน้ำมัน ค่าแรงงานสำหรับทำการซ่อม เป็นต้น
กิจการประเภทจำหน่ายสินค้า ต้นทุนจะหมายถึง มูลค่าของสินค้าสำเร็จรูปที่ซื้อมาบวกค่าขนส่งในการจัดซื้อสินค้า
กิจการประเภทอุตสาหกรรม ต้นทุนจะหมายถึง จำนวนเงินที่จ่ายไปเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแปรสภาพวัตถุดิบเป็นสินค้าสำเร็จรูป

2.              ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัญชีต้นทุน
ในการที่จะทำการศึกษาบัญชีต้นทุนให้เข้าใจควรจะทำการศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบัญชีต้นทุนก่อน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
2.1       การจัดแบ่งประเภทต้นทุน
1)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนตามหน้าที่
นักบัญชีบริหารจัดประเภทต้นทุนเพื่อให้ข้อมูลในการวางแผนและควบคุมต้นทุนแก่ผู้บริหาร โดยการแบ่งต้นทุนตามหน้าที่การผลิตดังนี้ คือ วัตถุทางตรง ค่าแรงทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต
วัตถุทางตรง (Direct Materials) หมายถึง วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสินค้าสำเร็จรูปสามารถวัดจำนวนได้ง่าย และสังเกตเห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนประกอบของสินค้า เช่น โรงงานเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าจะเป็นวัตถุทางตรง ส่วนด้าย กระดุม กาว จะถือเป็นวัตถุทางอ้อม เพราะวัดจำนวนการใช้ได้ไม่แน่นอน หรือ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ไม้จะเป็นวัตถุทางตรง ส่วนสีและตะปู จะถือเป็นวัตถุทางอ้อม วัตถุทางตรงของการผลิตอาจมีมากกว่า 1 ชนิดก็ได้ เช่น หากโรงงานเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้ผ้า 2 ชนิดในการตัดเย็บ คือ ผ้าตัดเสื้อ และผ้าซับใน จะถือว่าวัตถุทางตรงคือผ้าทั้ง 2 ประเภท
แรงงานทางตรง (Direct Labor) หมายถึง แรงงานที่เกิดขึ้นโดยตรงในการนำวัตถุดิบมาแปรสภาพให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป สามารถระบุได้ว่าค่าแรงนั้นเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าชนิดใด เป็นจำนวนเท่าใด และคำนวณเป็นต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตได้ง่าย เช่น ค่าแรงคนงานที่ประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ ค่าแรงงานของคนงานที่คุมเครื่องจักร เป็นต้น
ในกระบวนการผลิตจะมีค่าแรงงานบางประเภทเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากการผลิตสินค้าชนิดใด เช่นเงินเดือนผู้จัดการโรงงาน เงินเดือนยามเฝ้าโรงงาน เงินเดือนคนทำความสะอาดโรงงาน ค่าสวัสดิการคนงาน เป็นต้น ค่าแรงงานประเภทนี้จะถือเป็นค่าแรงงานทางอ้อมที่เกิดจากการผลิต
ค่าใช้จ่ายการผลิต (Manufacturing Overhead) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตทั้งหมดยกเว้นวัตถุทางตรงและค่าแรงงานทางตรง เช่น วัตถุทางอ้อม ค่าแรงงานทางอ้อม ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าและแสงสว่าง ค่าเช่าโรงงาน ค่าเสื่อมราคาโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าประกันภัยโรงงาน เป็นต้น
2)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนตามพฤติกรรมต้นทุน
เพื่อจะนำต้นทุนไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมและวางแผนงาน พฤติกรรมของต้นทุนเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการตัดสินใจในการควบคุมและวางแผนงาน เพราะจะเป็นแนวทางชี้ให้เห็นว่าต้นทุนนั้นมีความสัมพันธ์กับระดับของกิจกรรมอย่างไร พฤติกรรมต้นทุนสามารถแยกได้ดังนี้
ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอัตราส่วนโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงระดับกิจกรรมหรือหน่วยผลิต เช่น ถ้าทำการผลิตมาก ต้นทุนประเภทนี้จะเกิดมาก หรือถ้าทำการผลิตน้อยต้นทุนประเภทนี้จะเกิดน้อย ตัวอย่างในการผลิตโต๊ะ 1 ตัว จะมีต้นทุนผันแปรในการผลิตต่อหน่วยเท่ากับ100 บาท ถ้าผลิตโต๊ะ 50 ตัว ต้นทุนผันแปรรวมจะเท่ากับ 100 x 50 เท่ากับ 5,000 บาท แต่ถ้าผลิตโต๊ะ 100 ตัว ต้นทุนผันแปรรวมจะเท่ากับ 100 x 100 เท่ากับ 10,000 บาท
ต้นทุนผันแปรในการผลิต ได้แก่ วัตถุทางตรง ค่าแรงทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิต เป็นต้น
ต้นทุนผันแปรในการขายและบริหาร ได้แก่ ค่านายหน้าพนักงานขาย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนผันแปร
จำนวนเงิน (บาท)



                                ต้นทุนผันแปร (Total Variable Cost)

  0                                           ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต
สรุป ต้นทุนผันแปรจะมีลักษณะยอดรวมเปลี่ยนแปลงไปตามระดับกิจกรรม หรือหน่วยผลิต แต่ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยคงที่
ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) หมายถึง ต้นทุนที่มีลักษณะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับการผลิต หรือระดับกิจกรรม ซึ่งจะมีจำนวนรวมคงที่ตลอดช่วงการผลิตระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตน้ำผลไม้กระป๋อง ต้องจ่ายค่าเช่าโรงงานต่อเดือน เดือนละ 20,000 บาท ไม่ว่าโรงงานจะผลิตน้ำผลไม้กระป๋องเป็นจำนวนเท่าใด โรงงานก็ต้องจ่ายค่าเช่าโรงงานเป็นจำนวน 20,000 บาททุกเดือน หรือโรงงานเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปต้องจ้างผู้จัดการโรงงานมาเพื่อคุมงาน โดยจ้างผู้จัดการโรงงานเดือนละ 50,000 บาท ถึงแม้ว่าจะผลิตเสื้อเป็นจำนวนเท่าใดทางโรงงานก็ต้องจ่ายเงินเดือนผู้จัดการโรงงาน 50,000 บาททุกเดือน
ต้นทุนคงที่ในการผลิต ได้แก่ เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน เงินเดือนคนทำความสะอาดโรงงาน เงินเดือนยามเฝ้าโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น
ต้นทุนคงที่ในการขายและบริหาร ได้แก่ เงินเดือนผู้จัดการสำนักงาน เงินเดือนคนทำความสะอาดสำนักงาน เงินเดือนพนักงานขาย ค่าเสื่อมราคาเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนคงที่
จำนวนเงิน (บาท)



                               
ต้นทุนคงที่ (Total Fixed Cost)
  0                                                      ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต
สรุป ต้นทุนคงที่จะมีลักษณะยอดรวมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับกิจกรรม หรือจำนวนหน่วยผลิต แต่ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยจะเปลี่ยนแปลงตามระดับกิจกรรม หรือจำนวนหน่วยผลิต ตัวอย่างในโรงงานเย็บสำเร็จรูปต้องจ้างผู้จัดการโรงงานมาเพื่อคุมงานโดยจ่ายเงินเดือน เดือนละ 50,000 บาท หากโรงงานผลิตสินค้างวดนี้จำนวน 2,000 หน่วย ต้นทุนคงที่ (เงินเดือน)จะคิดเข้าเป็นต้นทุนต่อหน่วย = 50,000/2,000 = 25 บาท
จากการแยกต้นทุนออกเป็นต้นทุนผันแปร และต้นทุนคงที่ ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนแต่ละรายการ เช่นต้นทุนคงที่จะต้องเป็นต้นทุนคงที่ตลอดไป หรือรายการที่เป็นต้นทุนผันแปรต้องเป็นต้นทุนผันแปรตลอดไป เพราะในระยะยาวในการดำเนินงานต้นทุนทุกรายการจะเป็นต้นทุนผันแปร แต่ถ้าเราพิจารณาในช่วงสั้นๆ เช่น 1 งวดดำเนินงานจึงจะพิจารณาเป็นต้นทุนผันแปรหรือต้นทุนคงที่ ตังอย่างเช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าเช่าโรงงาน เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน ในงวด 1 ปี จะถือว่ามีจำนวนที่แน่นอนไม่ว่าจะทำการผลิตมากน้อยเท่าไร แต่ในช่วงซึ่งเกินกว่า 1 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น การขึ้นเงินเดือน การเพิ่มค่าเช่าโรงงาน หรือการเปลี่ยนแปลงชนิดและขนาดของเครื่องจักรจะเป็นผลทำให้ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรเปลี่ยนแปลง
ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi Variable Cost) เป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนผันแปรในอัตราของการเพิ่มที่ไม่คงที่ ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นในอัตราการเพิ่มที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงดังนี้
จำนวนเงิน (บาท)



ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi Variable Cost)

  0                                                      ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต
หรือ
จำนวนเงิน (บาท)
ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi Variable Cost)

                               
  0                                                      ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต
ต้นทุนกึ่งผันแปรสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ต้นทุนผสม (Mixed Cost) และต้นทุนขั้น (Step Cost)
ต้นทุนผสม (Mixed Cost) ได้แก่ ต้นทุนบางประเภทที่มีทั้งส่วนคงที่และส่วนผันแปรรวมอยู่ด้วยกัน เช่นค่ากำลังไฟฟ้าในแต่ละเดือนเท่ากับ 15,000 บาทและบวก 20 สตางค์ต่อชั่วโมงแรงงานทางตรง เป็นต้น
ลักษณะต้นทุนผสม
จำนวนเงิน (บาท)









                                                   ต้นทุนกึ่งผันแปร



             ต้นทุนคงที่
  0                                                      ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต

ต้นทุนขั้น (Step Cost) เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามระดับกิจกรรม หรือระดับการผลิต แต่การเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ คล้ายขั้นบันได ต้นทุนส่วนแตกต่างมักจะเพิ่มขึ้นในลักษณะคงที่ ตัวอย่างเช่น หัวหน้าผู้ควบคุมงาน 1 คน สามารถควบคุมคนงานได้ 15 คน หากมีการเพิ่มคนงานอีก 1 คน เป็น 16 คน จะต้องจ้างหัวหน้าผู้ควบคุมงานเพิ่มอีก 1 คน
ลักษณะต้นทุนขั้น
จำนวนเงิน (บาท)



                               



  0                                                      ระดับกิจกรรม,จำนวนหน่วยผลิต

3)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนตามความสัมพันธ์ของต้นทุนกับเหตุแห่งต้นทุน
ต้นทุนอาจเกิดจากเหตุเดียว กิจกรรมเดียว แผนกเดียว หรืออาจมีหลายกิจกรรม หลายแผนกมาร่วมทำให้เกิดต้นทุนเดียวกัน ตัวอย่าง เงินเดือนพนักงานบัญชีเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในแผนกบัญชีเท่านั้น เป็นกิจกรรมเดียวคืองานบัญชี ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าแม่บ้านทำความสะอาดอาคารที่เกิดขึ้นในกิจการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหลายแผนกรวมกันซึ่งเป็นการเกิดหลายกิจกรรม นักบัญชีบริหารจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร จึงพยายามวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับเหตุแห่งต้นทุน เพื่อใช้ในการบริหารต้นทุน จากแนวคิดนี้ต้นทุนจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นโดยตรงด้วยเหตุเดียว หรือกิจกรรมเดียวเรียกว่าต้นทุนทางตรงกับต้นทุนทางอ้อม หรือต้นทุนร่วมที่เกิดจากหลายเหตุหรือหลายกิจกรรมหรือหลายแผนก
ต้นทุนทางตรง (Direct Cost) หมายถึงต้นทุนที่สามารถติดตาม หรือคิดเข้ากับผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและชัดเจน เช่น วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผนกโดยตรง ซึ่งอาจวัดเป็นจำนวนหน่วยและคำนวณเป็นจำนวนเงินได้
ต้นทุนทางอ้อม (Indirect Cost) หมายถึง ต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถคิดเข้าโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ หรือกับแผนกผลิตได้อย่างชัดเจน มีลักษณะเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงินเดือนผู้ควบคุมงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าประกันภัยโรงงาน เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการปันส่วน เช่น ใช้ปันส่วนตามเกณฑ์ชั่วโมงแรงงานทางตรง เป็นต้น
4)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนตามงวดเวลาที่ก่อประโยชน์
เป็นการแบ่งต้นทุนโดยยึดหลักเวลาที่ต้นทุนจะก่อประโยชน์ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีก่อประโยชน์ในอนาคต เรียกว่า ต้นทุนผลิตภัณฑ์ ส่วนกรณีเกิดประโยชน์ในปัจจุบัน เรียกว่า ต้นทุนงวดเวลา
ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์โดยตรง บางครั้งเรียกว่า ต้นทุนที่เป็นตัวสินค้า ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะผลิตสำเร็จหรือไม่ก็ตามต้นทุนของผลิตภัณฑ์จะถือเป็นสินทรัพย์จนกว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกขายออกไป ต้นทุนที่ถือเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์ ได้แก่ วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายในการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกขายไปต้นทุนผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ขายกลายเป็นต้นทุนขาย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแต่ยังไม่ขายเรียกว่าสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไม่เสร็จเรียกว่าสินค้าระหว่างผลิต หรืองานระหว่างทำ
ต้นทุนงวดเวลา (Period Cost) หมายถึง ต้นทุนผลิตภัณฑ์ในส่วนที่ถูกขายออกไประหว่างงวดเรียกว่า ต้นทุนขายกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เกิดขึ้นในงวดบัญชีนั้นๆ


5)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนเพื่อการควบคุม
การแบ่งต้นทุนประเภทนี้ใช้ลักษณะความสัมพันธ์ต้นทุนกับความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร เพื่อวัดความสามารถหรือประเมินผลของฝ่ายบริหาร และเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติต่างๆ และควบคุมของฝ่ายบริหาร
ต้นทุนทุกชนิดของกิจการจะสามารถควบคุมได้โดยฝ่ายบริหารระดับสูงสุด แต่ไม่สามารถควบคุมได้ของฝ่ายบริหารระดับล่างลงมา ฝ่ายบริหารระดับล่างสามารถควบคุมต้นทุนได้เฉพาะแต่ต้นทุนในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
ต้นทุนที่ควบคุมได้ (Controllable Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นซึ่งผู้จัดการหรือหัวหน้าแผนกหรือศูนย์มีอำนาจในการตัดสินใจการเกิดขึ้นของต้นทุนนั้นได้กล่าวถึงคือ สามารถควบคุมให้เกิดมากหรือเกิดน้อยได้เช่น วัตถุดิบ ค่าแรงทางตรง เป็นต้น
ต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นซึ่งผู้จัดการหรือหัวหน้าแผนกหรือศูนย์ไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่มีอิทธิพลต่อต้นทุนนั้น ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่อยู่ในอำนาจการตัดสินใจและสั่งการของผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป หรือเป็นต้นทุนที่ได้รับการปันส่วนมาจากส่วนกลางหรือจากแผนกอื่น เช่น แผนกผลิตรับปันส่วนต้นทุนจากแผนกซ่อมบำรุง แต่แผนกผลิตไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพการทำงานหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแผนกซ่อมบำรุงได้ ดังนั้น ต้นทุนที่ได้รับปันส่วนมาจึงเป็นต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้
6)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ
ในการดำเนินงานของกิจการ ผู้บริหารมีหน้าที่สำคัญอันหนึ่งก็คือการตัดสินใจที่จะกำหนดทางเลือกหรือกำหนดนโยบายการดำเนินงาน ทั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำวันหรือปัญหาเฉพาะหน้า นักบัญชีจะมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงต้นทุนที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร เมื่อพิจารณาต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโดยสัมพันธ์กับเรื่องที่จะตัดสินใจจะสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
ก.ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevant Cost) หมายถึง ต้นทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริหาร ในทางทฤษฎีต้นทุนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจมีหลายประเภท
1. ต้นทุนที่แตกต่าง (Differential Cost) หมายถึงต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนการดำเนินงานตามแบบที่เคยปฏิบัติอยู่ก่อน โดยที่กิจการจะทำการเปลี่ยนหรือปรับปรุงกิจกรรมที่เคยปฏิบัติอยู่ก่อนให้ดีกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเป็นผลทำให้กิจการมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ต้นทุนที่แตกต่างเป็นต้นทุนที่ใช้วิเคราะห์สำหรับการเลือกปฏิบัติตามวิธีใหม่กับวิธีเดิม
2. ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoidable Cost) หมายถึง ต้นทุนที่กิจการสามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ต้องจ่ายเมื่อยกเลิกกิจกรรมนั้น เช่น การยกเลิกเขตขาย การยกเลิกสาขา การปิดโรงงานชั่วคราว จะมีต้นทุนบางประเภทที่ไม่ต้องจ่าย เช่น การยกเลิกเขตขายหนึ่ง ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ เงินเดือนของพนักงานที่ออกไป ค่าโฆษณาของเขตขาย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าของเขตขายที่ทำการยกเลิก เป็นต้น
3. ต้นทุนของโอกาสที่เสียไป (Opportunity Cost) เป็นรายได้ที่ควรจะได้รับแต่ไม่ได้รับเพราะปฏิเสธทางเลือกนั้น หมายถึง รายได้จะเกิดขึ้นจำนวนหนึ่งหากได้ใช้ทรัพยากรไปในการกระทำอย่างหนึ่ง แต่กลับไม่ได้รับรายได้นั้นเพราะได้นำทรัพยากรส่วนนั้นไปใช้ในการกระทำอย่างอื่นแทน
ข. ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Irrelevant Cost) หมายถึง ต้นทุนที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารไม่ว่าฝ่ายบริหารจัดตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการ ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจมีดังนี้
1. ต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ไม่ว่าการตัดสินใจจะกระทำในปัจจุบัน หรืออนาคตจะถือเป็นต้นทุนที่ไม่มีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจในทางเลือกต่างๆ เช่น การลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยจ่ายเงินซื้อเท่ากับ 200,000 บาท เมื่อกิจการจ่ายเงินซื้อไปแล้วจำนวน 200,000 บาท เงินจำนวนนี้หรือต้นทุนจำนวนนี้ไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจอีกต่อไป เพราะถือว่ากิจการได้จ่ายเงินจำนวนนี้ออกไปแล้ว
2. ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Unavoidable Cost) จะเป็นต้นทุนที่ตรงข้ามกับต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ หมายความว่าถึงแม้จะยกเลิกกิจกรรมต่างๆ เช่น การยกเลิกเขตขายหรือยกเลิกสาขา แต่ต้นทุนประเภทนี้ยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม เช่น เดิมกิจการมีเขตขาย 3 เขตขาย คือ A, B และ C กิจการใช้ผู้จัดการ 1 คน โดยจ่ายเงินเดือนให้เดือนละ 100,000 บาท ผู้จัดการคนนี้จะดูแลเขตขายทั้ง 3 เขต ต่อมายกเลิกเขตขาย C ซึ่งมีผลขาดทุนในการดำเนินงาน เงินเดือนผู้จัดการจำนวน 100,000 บาท ยังคงต้องจ่ายให้ผู้จัดการเท่าเดิมถึงแม้จะเหลือเขตขายเพียง 2 เขตก็ตาม เงินจำนวนนี้เรียกว่าต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
7)             การจัดแบ่งประเภทต้นทุนตามเวลาที่ต้นทุนปรากฏ
ตามหลักการบัญชีการเงินจะบันทึกต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในทางบัญชีบริหารต้นทุนไม่จำเป็น ต้องเป็นต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น เป็นเพียงต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ ตามแนวคิดนี้ต้นทุนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ต้นทุนจริง (Actual Cost) หรือต้นทุนที่เป็นอดีต (Historical Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้วและได้จ่ายไปแล้วจริง ตัวอย่างต้นทุนต่างๆ ที่บันทึกตามหลักการบัญชีการเงิน เช่น ค่าเช่า เงินเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้นทุนจริงหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้ว
ต้นทุนมาตรฐาน (Standard Cost) หรือต้นทุนประมาณการ (Budgeted Cost) หมายถึงต้นทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่ประมาณการไว้ว่าจะเกิดขึ้นถ้าดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ต้นทุนนี้มีประโยชน์มากในการบริหารเพราะจะใช้ในการวางแผน ควบคุม และประเมินผลงาน เช่น ค่าวัตถุทางตรงมาตรฐาน ค่าแรงงานทางตรงมาตรฐาน และค่าใช้จ่ายในการผลิตมาตรฐาน เป็นต้น
2.2       การจัดทำรายงานการผลิต หรือ งบต้นทุนการผลิตและงบการเงิน
1)             การจัดทำงบต้นทุนผลิต สำหรับกิจการประเภทอุตสาหกรรมจะจัดทำงบนี้เพื่อเป็นรายงานถึงต้นทุนการผลิตของสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จงวดนี้ว่ามีจำนวนเท่าไร ทำได้โดยนำต้นทุนการผลิตซึ่งประกอบด้วย วัตถุทางตรง ค่าแรงทางตรง และค่าใช้จ่ายในการผลิตมารวมกัน และนำงานระหว่างทำต้นงวดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้จากงวดก่อน แต่ผลิตไม่เสร็จมาผลิตต่อซึ่งจะกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปงวดนี้ส่วนหนึ่งมารวมกับต้นทุนที่เกิดขึ้นในงวดนี้ และนำต้นทุนของงานระหว่างทำปลายงวดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มต้นในงวดนี้แต่ยังไม่เสร็จมาหักออกจะได้ต้นทุนของสินค้าที่ผลิตสำเร็จ
2)             การจัดทำงบกำไรขาดทุน การจัดทำงบกำไรขาดทุนของกิจการประเภทอุตสาหกรรมจะมีลักษณะคล้ายกับกิจการซื้อสินค้ามาขาย ต่างกันตรงที่ว่ากิจการที่ผลิตสินค้าขึ้นมาขายจะไม่มีรายการซื้อสินค้าสำเร็จรูป แต่จะมีรายการต้นทุนผลิตสินค้าสำเร็จรูป จากงบต้นทุนผลิตมาแสดงแทน
3)             การจัดทำงบดุล การจัดทำงบดุลของกิจการประเภทอุตสาหกรรม จะมีลักษณะเหมือนกับกิจการซื้อสินค้ามาขาย คือ ประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ ต่างกันตรงที่ว่ากิจการประเภทอุตสาหกรรม สินค้าคงเหลือจะประกอบด้วย
-                    สำเร็จวัตถุดิบคงเหลือ
-                    งานระหว่างทำคงเหลือ หรือสินค้าระหว่างผลิตคงเหลือ
-                    สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ
-                    วัสดุโรงงานคงเหลือ
2.3       ความสัมพันธ์ของต้นทุน และวงจรบัญชีต้นทุน
ในการผลิตสินค้าจะแบ่งส่วนประกอบของต้นทุนออกเป็น 3 ประเภท คือวัตถุทางตรง แรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าใช้จ่ายในการผลิตประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทุกรายการที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต (ยกเว้นวัตถุทางตรงและแรงงานทางตรง) โดยหลังจากบันทึกค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทแล้วต้องโอนปิดไปยังบัญชีค่าใช้จ่ายการผลิตซึ่งเป็นบัญชีคุม
การโอนต้นทุนการผลิตไปเป็นต้นทุนของผลิตภัณฑ์นั้น ในช่วงที่ผลิตภัณฑ์ยังผลิตไม่เสร็จ ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในกระบวนการผลิตจะถูกโอนไปยังบัญชีงานระหว่างทำ
เมื่อผลิตภัณฑ์ใดผลิตสำเร็จก็จะโอนต้นทุนหน่วยที่ผลิตไปบัญชีต้นทุนสินค้าสำเร็จรูป และเมื่อมีการขายสินค้าต้นทุนของสินค้าส่วนที่ขายจะถูกโอนจากบัญชีสินค้าสำเร็จรูปเข้าบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น