1.1.54

บทที่ 7 การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ

บทที่ 7
การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ
(Cost Analysis for Decision Making)
ในการดำเนินงานของกิจการฝ่ายบริหารจะเป็นผู้ตัดสินใจที่จะกำหนดทางเลือก หรือกำหนดนโยบายการดำเนินงานของกิจการโดยฝ่ายบริหาร จะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในปริมาณ (Quantitative approach) และเชิงคุณภาพ (Qualitative approach) ที่มีผลต่อการตัดสินใจมาประกอบการพิจารณากำหนดทางเลือกหรือนโยบาย การดำเนินงานของกิจการ การตัดสินใจในการกำหนดทางเลือกหรือนโยบายที่แตกต่างกันในการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่แตกต่างกันพิจารณา ปัจจุบันกิจการโดยทั่วไปมีการนำข้อมูลทางบัญชีซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งมาช่วยในการตัดสินใจโดยการนำข้อมูลมาปรับให้เหมาะสมกับปัญหา หรือทางเลือกที่เกิดขึ้น
การตัดสินใจสำหรับธุรกิจจะถือกำไรเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นในการวางแผนดำเนินงานจะต้องเน้นในเรื่องกำไรหรืออัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม ฝ่ายบริหารจะต้องเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานในแง่รายได้และต้นทุน แล้วตัดสินใจเลือกการดำเนินงานที่ให้กำไรมากที่สุด ซึ่งการตัดสินใจในการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นการตัดสินใจระยะสั้นของฝ่ายบริหารโดยทั่วไปแล้วทางเลือกแต่ละทางอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาประเมินค่าเปรียบเทียบกันว่าทางเลือกใดให้ผลสุทธิดีที่สุด การเปรียบเทียบดังกล่าวจะต้องแสดงค่าเชิงปริมาณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามปกติจะมีปัญหาสำคัญหลายประการซึ่งไม่อาจวัดได้ การตัดสินใจในปัญหาจำต้องพิจารณาถึงผลแตกต่างทั้งปัจจัยที่วัดได้และที่วัดไม่ได้ โดยวิธีถ่วงน้ำหนักความสำคัญเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมาก
1. ชนิดของปัญหาในการตัดสินใจ
ผู้บริหารของกิจการมีหน้าที่จะต้องบริหารงานทั้งด้านการผลิตและจำหน่ายสินค้า ด้วยเหตุนี้เองผู้บริหารจะต้องประสบกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการจำหน่ายสินค้าทำให้ผู้บริหารจะต้องตัดสินใจโดยเลือกทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุด ดังนั้นในระยะสั้นผู้บริหารจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ต้องตัดสินใจมากมาย เช่น
1) ปัญหาควรรับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่
2) ปัญหาควรยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขา หรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุนหรือไม่
3) ปัญหาควรปิดโรงงานชั่วคราวหรือไม่
4) ปัญหาควรผลิตส่วนประกอบเองหรือซื้อจากบุคคลภายนอก
5) ปัญหาควรตัดสินใจขายหรือผลิตต่อ
6) ปัญหาควรส่งเสริมการขายสินค้าชนิดใด
2. ลักษณะของต้นทุนที่ใช้ในการตัดสินใจ
การตัดสินใจปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้บริหารจะใช้ข้อมูลทางบัญชีต้นทุนมาช่วยในการตัดสินใจ ข้อมูลทางด้านต้นทุนได้แบ่งออกเป็นหลายๆ ลักษณะซึ่งได้อธิบายไงไว้แล้วในบทที่ 4 ในการตัดสินใจ ข้อมูลทางด้านต้นทุนที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจจะเรียกว่า ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevant cost) ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Future Cost) ในขณะที่ต้นทุนจม (Sunk Cost) จะเป็นต้นทุนในอดีต และไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ เพราะไม่ว่ากิจการจะตัดสินใจเลือกทางเลือกใดก็ตาม ต้นทุนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3. ขั้นตอนการใช้ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ
การวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุดส่วนมากจะใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่ม หรือการวิเคราะห์ต้นทุนส่วนต่าง โดยการตัดสินใจและการวิเคราะห์ต้นทุนมีขั้นตอนดังนี้
1) รวบรวมต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกต่างๆ ที่จะทำการตัดสินใจ
2) ตัดต้นทุนจมออกจากการตัดสินใจ
3) ตัดต้นทุนที่ไม่มีความแตกต่างกันในระหว่างทางเลือกต่างๆ ออกจากการตัดสินใจ
4) เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดภายใต้การวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งต้นทุนที่เหลืออยู่จะเป็นต้นทุนที่แตกต่าง หรือต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
(ตัวอย่าง)
4. การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลต้นทุน
ตามที่กล่าวไปแล้วว่าชนิดของปัญหาในการตัดสินใจมีจำนวน 6 ปัญหา ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างอธิบายการตัดสินใจแต่ละปัญหา
4.1 ปัญหาควรรับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่
ในการดำเนินงานปกติของกิจการ บางครั้งจะมีคำสั่งซื้อพิเศษ เพื่อซื้อสินค้าเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากการขายตามปกติของกิจการ โดยปกติแล้วคำสั่งซื้อพิเศษจะมีนานๆ ต่อครั้ง และจะขอซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในท้องตลาด
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
1. กิจการมีกำลังการผลิตว่างเปล่าเหลือพอที่จะผลิตตามคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่ ถ้าเหลือพอในอันดับแรกให้ถือก่อนว่าควรรับคำสั่งซื้อพิเศษ เพราะกิจการมีกำลังการผลิตว่างเปล่าเหลือพอผลิตแต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นด้วย
2. คำสั่งซื้อพิเศษจะต้องมีกำไรผันแปร ซึ่งจะได้จากยอดขาย หัก ต้นทุนผลิตผันแปรและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารผันแปร
2.1 ต้นทุนผลิตผันแปร ได้แก่ วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปรต้องนำมาคำนวณในการหากำไรผันแปร เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการขายตามปกติหรือขายตามคำสั่งซื้อพิเศษต้นทุนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นเสมอ
2.2 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารผันแปร อาจต้องนำมาคำนวณในการหากำไรผันแปรหรือไม่นั้น อาจจะต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่สั่งซื้ออีกครั้ง เช่น ถ้าคำสั่งซื้อพิเศษสั่งตรงมายังผู้บริหาร กิจการก็ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้พนักงานขาย หรือผู้ซื้อจะมารับสินค้าไปเอง กิจการก็ไม่ต้องจ่ายค่าขนส่งออก เป็นต้น ถ้าเป็นดังที่กล่าวมาแล้วค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารผันแปร ไม่ต้องนำมาคำนวณหากำไรผันแปรทั้งนี้แล้วแต่เงื่อนไขคำสั่งซื้อพิเศษที่ตกลงกัน
3. ต้นทุนคงที่ในการผลิต และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคงที่ไม่ต้องนำมาพิจารณา เพราะการที่รับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่นั้นจะพิจารณาในส่วนที่เป็นกำไรผันแปรเท่านั้น
(ตัวอย่าง)

4.2 ปัญหาควรยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขา หรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุนหรือไม่
บริษัทที่ผลิตและขายผลิตภัณฑ์หลายชนิด หรือบริษัทที่มีสาขา หรือเขตขายหลายแห่งจะประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้งว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดจะแสดงผลขาดทุน สาขาหรือเขตขายบางแห่งเกิดประสบปัญหาขาดทุน ในฐานะผู้บริหารถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องบัญชี อาจจะคิดว่าเมื่อผลิตภัณฑ์ สาขา หรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุน ถ้าหยุดการผลิต หรือยกเลิกสาขา หรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุน ยกเลิกไปแล้วผลขาดทุนจะหายไปด้วย แต่ในความเป็นจริงการยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขา หรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุนนั้นอาจจะกระทบปัจจัยหลายอย่างเช่น
1. ปัจจัยทางด้านต้นทุน ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขาย ใช้ต้นทุนร่วมกันบางอย่างเช่น ต้นทุนคงที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้บางประเภท เมื่อยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขาย ก็ให้ผลขาดทุน ต้นทุนคงที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะถูกผลักภาระไปให้กับผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขายที่ยังอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรโดยภาพรวมของกิจการทันที
2. ปัจจัยความสัมพันธ์ทางด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์ที่มีความสัมพันธ์กันในด้านการขาย เช่น กิจกรรมที่ผลิตยาสระผมและยานวดผม จะถือว่าสินค้าทั้ง 2 ชนิดมีความสัมพันธ์กันในด้านการตลาด สมมติว่าผลิตภัณฑ์ยานวดผมเกิดผลขาดทุน หากจะทำการยกเลิกการผลิตควรจะคำนึงถึงด้วยว่า ยาสระผมของกิจการอาจจะยอดขายลดลง เพราะยาสระผมกับยานวดผมจะต้องใช้ร่วมกัน ถ้าแยกใช้ต่างยี่ห้อหรือต่างชนิดอาจทำให้เกิดปัญหากับเส้นผมได้
3. ปัจจัยด้านการแข่งขัน การยกเลิกผลิตภัณฑ์บางชนิด สาขาหรือเขตขายบางแห่งจะต้องทำให้ชื่อเสียงของบริษัทตกต่ำลง ซึ่งจะส่งผลถึงอำนาจการแข่งขันในระยะยาว
หลักเกณฑ์การพิจารณา
1. การยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุนจะเป็นผลทำให้ยอดขายต้นทุนขาย ต้นทุนผันแปร ของผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขายที่ถูกยกเลิกนั้นถูกยกเลิกได้หมด
2. ต้นทุนคงที่บางประเภท เช่นต้นทุนคงที่ทางตรงหรือต้นทุนคงที่ที่หลีกเลี่ยงได้จะไม่เกิดขึ้นถ้ายกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขาย ตัวอย่างเช่น เงินเดือนพนักงานขาย เงินเดือนพนักงานทำความสะอาดของสาขาหรือเขตขายที่ถูกยกเลิก ต้นทุนประเภทนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากทำการยกเลิกสาขาหรือเขตขายดังกล่าว
3. ต้นทุนคงที่ปันส่วนหรือต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นต้นทุนที่ยังคงเกิดขึ้นถึงแม้จะยกเลิกผลิตภัณฑ์ สาขาหรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุนหรือไม่ยกเลิกก็ตาม เช่น สาขาหรือเขตขายที่ผู้ใช้ผู้จัดการบริหารงานร่วมกันถึงแม้จะยกเลิกสาขาหรือเขตขายบางแห่งไป เงินเดือนผู้จัดการยังต้องจ่ายจำนวนเท่าเดิม ต้นทุนประเภทนี้ถือว่ายังคงเกิดขึ้นเท่าเดิมถึงแม้ว่าจะยกเลิกสาขาหรือเขตขายที่ให้ผลขาดทุน
(ตัวอย่าง)
4.3 ปัญหาควรปิดโรงงานชาวคราวหรือไม่
การตัดสินใจปิดโรงงานชั่วคราว เป็นการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดทุนของกิจการในช่วงเศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งยอดขายจะตกต่ำลงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายไปจึงพิจารณาปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อรอโอกาสที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจึงจะเปิดดำเนินงานตามปกติ แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจซบเซาตลอดไปอาจพิจารณาเลิกดำเนินกิจการตลอดไปก็เป็นไปได้ การปิดโรงงานชั่วคราวนั้นยังมีรายจ่ายส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไม่เหมือนกับการปิดโรงงานไปเลย การปิดโรงงานชั่วคราวกิจการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และดูแลทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ซึ่งเรียกว่า ค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานชั่วคราว เช่น ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ค่าเช่าโรงงาน ค่าเสื่อมราคาอาคารโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนต้นทุนคงที่บางส่วนจะลดลง และค่าใช้จ่ายผันแปรจะลดลงได้หมด เช่น วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าวัสดุโรงงาน ค่าแรงงานทางอ้อม ค่าไฟฟ้าลดลงได้บางส่วน
หลักเกณฑ์การพิจารณา
การตัดสินใจว่าจะหยุดดำเนินงานปิดโรงงานชั่วคราวหรือไม่ต้องเปรียบเทียบการขาดทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตและขาย กับค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานชั่วคราวอย่างไหนจะมีจำนวนน้อยกว่าก็เลือกทางนั้น
(ตัวอย่าง)
4.4 ปัญหาควรผลิตส่วนประกอบเองหรือซื้อจากบุคคลภายนอก
การตัดสินใจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทขายสินค้าประเภทเดียวหรือหลายประเภทและสินค้าจำเป็นต้องใช้ส่วนประกอบ บางครั้งบริษัทอาจผลิตส่วนประกอบเอง หรืออาจซื้อจากบุคคลภายนอก เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ กระจกรถยนต์อาจจะทำการผลิตกระจกรถยนต์เองหรือซื้อจากบุคคลภายนอกโดยจะต้องพิจารณาว่าทางเลือกไหนให้ต้นทุนต่ำสุดก็ควรเลือกทางเลือกนั้น ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะผลิตเอง หรือซื้อจากบุคคลภายนอก จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ประกอบด้วย
1. หากจะทำการผลิตสาวนประกอบเองต้องมีความแน่ใจว่า บริษัทมีความรู้ความสามารถในการผลิตส่วนประกอบได้คุณภาพดีตามต้องการ
2. การเปลี่ยนฐานะจากลูกค้ากลายมาเป็นผู้ผลิตเองจะต้องรักษาฐานะของตนเองตลอดไป เพราะการจะกลับมาเป็นลูกค้าจากผู้ผลิตรายเดิมอีกครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและค่อนข้างลำบาก
3. การสั่งซื้อส่วนประกอบจากภายนอกจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนในการส่งมอบให้ทันกับความต้องการที่จะใช้ผลิต
4. ถ้าผลิตส่วนประกอบเอง บริษัทมีกำลังการผลิต เหลือพอที่ผลิตส่วนประกอบหรือไม่
5. ถ้าบริษัทผลิตส่วนประกอบเอง จะมีความมั่นใจในการมีส่วนประกอบใช้ตามกำหนด โดยไม่ต้องรอคอยจากการสั่งซื้อจากภายนอก
หลักเกณฑ์การพิจารณา
1. ให้พิจารณาว่าระหว่างการซื้อส่วนประกอบภายนอกและการผลิตส่วนประกอบเองทางเลือกไหนถูกกว่าให้เลือกทางเลือกนั้น
2. ต้นทุนคงที่ในการผลิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (ต้นทุนคงที่ปันส่วน) ไม่ต้องนำมาพิจาณาเพราะถึงแม้จะผลิตส่วนประกอบเองหรือไม่ผลิตก็ยังคงต้องเกิดขึ้นเสมอ
3. ต้นทุนคงที่ในการผลิตที่หลีกเลี่ยงได้ (ต้นทุนคงที่ทางตรง) จะต้องนำมาพิจารณาเพราะต้นทุนประเภทนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำการผลิตส่วนประกอบ ถ้าไม่ผลิตก็จะไม่เกิด เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรที่ใช้ผลิตส่วนประกอบ ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรคนละชนิดกับการผลิตผลิตภัณฑ์หลัก
(ตัวอย่าง)
4.5 ปัญหาควรตัดสินใจขายหรือผลิตต่อ
ในกิจการอุตสาหกรรมซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ในบางกิจการจะนำวัตถุดิบ แรงงาน และค่าใช้จ่ายการผลิตเข้าสู่กระบวนการผลิตและผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาได้เพียงชนิดเดียว แต่ในการผลิตบางกิจการอาจใช้วัตถุดิบ แรงงานและค่าใช้จ่ายการผลิต เข้าสู่กระบวนการผลิตเดียว แต่ผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ตัวอย่างอุตสาหกรรมผลิตน้ำมัน การกลั่นน้ำมันดิบจะได้น้ำมันชนิดต่างๆ ออกมา เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันก๊าซ ยางมะตอย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการกระบวนการผลิตเดียวกันเรียกว่า ผลิตภัณฑ์รวม ต้นทุนการผลิต (วัตถุดิบ แรงงาน และค่าใช้จ่ายการผลิต) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตร่วมจะเรียกว่าต้นทุนร่วม และต้นทุนร่วมที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเดียวและผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 1 ชนิด จะเรียกจุดกระบวนการผลิตนี้ว่า จุดแยกออก
ในบางครั้งการผลิตร่วม เมื่อผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา ณ จุดแยกออก กิจการอาจจะต้องตัดสินใจนำผลิตภัณฑ์ร่วมขาย ณ จุดแยกออก หรือควรนำไปทำต่อแล้วจึงขาย
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
ถ้ากิจการสามารถนำผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้ ณ จุดแยกออกไปทำการผลิตต่อแล้วสามารถขายได้ในราคาสูงขึ้น และทำให้กิจการมีผลกำไรมากขึ้น กิจการก็ควรนำไปทำต่อแล้วจึงนำออกขาย
4.6 ปัญหาควรส่งเสริมการขายสินค้าชนิดใด
ในการดำเนินกิจการที่มีสินค้าหลายชนิดในการผลิตและการขายย่อมจะเกิดปัญหาที่ว่ากิจการควรจะส่งเสริมการขายสินค้าแต่ละชนิดอย่างไร หรือสินค้าใดควรได้รับการส่งเสริมการขายมากที่สุด สินค้าชนิดใดควรส่งเสริมการขายรองลงมา เพราะในการผลิตต้นทุนการผลิตของสินค้าแต่ละชนิดจะแตกต่างกันรวมถึงราคาขายของสินค้าแต่ละชนิดก็อาจแตกต่างกันในการพิจารณา ในปัญหานี้กิจการจะคำนึงถึงกำไรผันแปรในการขายของสินค้าแต่ละชนิดสินค้าชนิดใดให้กำไรผันแปรสูงสุด จะได้รับการส่งเสริมการขายให้มากขึ้นเพื่อยอดขายของสินค้าจะได้สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลไปถึงกำไรของกิจการย่อมสูงตามไปด้วย
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
1. เปรียบเทียบกำไรผันแปรในการขายของสินค้าแต่ละชนิด
2. การคำนวณหากำไรผันแปรรวมตามข้อ 1 จะได้จากยอดขาย หัก ต้นทุนผันแปรในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารผันแปร
3. เลือกส่งเสริมการขายสำหรับสินค้าที่ให้กำไรผันแปรสูงสุดและกำไรผันแปรรองลงมาตามลำดับ
4. ต้นทุนคงที่ในการผลิต และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคงที่ จะไม่นำมาพิจารณาในการตัดสินใจเพราะต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 มีนาคม 2555 เวลา 19:23

    เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่เหมาะสม ให้รายละเอียดที่กระชับ สำหรับผู้ที่เคยเรียนบัญชีอ่านแล้วก็พอจะนึกภาพของวิธีการคำนวณคร่าว ๆ ได้

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆค่ะสำหรับข้อมูล
    ^________^

    ตอบลบ
  3. อยากให้ อัพเดท อีกครับ

    องค์ความรู้มีประโยชน์มากๆ

    ตอบลบ